วันอาทิตย์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2552


เครือข่ายครูฯ นำเยาวชน ร่วมเสวนา ‘จะรับมือพ่อค้าบุหรี่อย่างไร?’










มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย และเครือข่ายการควบคุมการบริโภคยาสูบแห่งอาเซียน (SEATCA) จัดการเสวนาเรื่อง “จะรับมือกับพ่อค้าบุหรี่อย่างไร” ขึ้น เพื่อระดมความคิดจากเครือข่ายนักรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เครือข่ายเด็กและเยาวชน และเครือข่ายครอบครัว ในการเฝ้าระวังการจัดงาน TABINFO ASIA 2009 ซึ่งเป็นงานเอ็กซโปขนาดใหญ่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมยาสูบ ที่มีกำหนดจัดขึ้นในประเทศไทย ช่วงวันที่ 11-13 พฤศจิกายนนี้ ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยมีผู้ดำเนินรายการคนดัง คุณภัทร จึงกานต์กุล ผู้ประกาศข่าวจากสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7

1. อะไรคือ TABINFO ASIA 2009
· เป็นงานแสดงสินค้าและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่และยาสูบประเภทอื่นๆ ของอุตสาหกรรมยาสูบทั้งระบบ เริ่มตั้งแต่กระบวนการได้มาซึ่งใบยาสูบผ่านกระบวนการผลิตจนกระทั่งเป็นผลิตภัณฑ์ยาสูบในรูปแบบต่างๆที่วางจำหน่ายลักษณะงานประกอบด้วยการแสดงบูธของบริษัทต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยาสูบ ได้แก่
- ใบยาสูบ การจัดเก็บสต๊อกใบยาสูบ การขนส่ง ผู้เพาะปลูกใบยาสูบ
- เครื่องจักรที่ใช้ในการผลิต ผลิตภัณฑ์ยาสูบ บรรจุภัณฑ์ และอุปกรณ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
- ส่วนประกอบของบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์ยาสูบ เช่น กระดาษฟอยล์ หีบห่อ การพิมพ์
- ส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ยาสูบ เช่น กระดาษมวนบุหรี่ ก้นกรองบุหรี่ ฟิวเตอร์ สารปรุงแต่งกลิ่น รสชาติ กาว และอื่นๆ
- การแสดงผลิตภัณฑ์ยาสูบที่พัฒนารูปแบบใหม่ หรือยี่ห้อใหม่
- องค์กร หรือธุรกิจอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยาสูบ เช่น บริษัทให้คำแนะนำในการดำเนินกิจการ ศูนย์ข้อมูล/วิจัย บริษัทโฆษณาและส่งเสริมการขาย ผู้จัดจำหน่าย ในประเทศและต่างประเทศ หน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง
· งานแสดงสินค้ายาสูบนี้เมื่อจัดที่ประเทศในยุโรปใช้ชื่อว่า TABEXPO เมื่อมาจัดที่ประเทศไทยและประเทศในเอเชียเปลี่ยนชื่อเป็น TABINFO แต่วัตถุประสงค์และลักษณะงานเหมือนกัน
· ในงานมีส่วนของการประชุมสัมมนาของกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยาสูบ

2. วัตถุประสงค์ของการจัด TABINFO ASIA 2009
· เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการในภาคส่วนต่างๆ ของอุตสาหกรรมยาสูบได้พบกัน เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมยาสูบทั้งในส่วนของผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และการทำการตลาดในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ประกอบการมาร่วมแสดงสินค้าประมาณ 250 บริษัท และมีผู้เข้าชมงาน 4,000 - 6,000 คน

3. ทำไมภาคีจึงไม่สนับสนุนให้มีการจัด TABINFO ASIA 2009 ที่ประเทศไทย
ผลกระทบเรื่องภาพพจน์
1. ประเทศไทยได้ร่วมลงนามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ ขององค์การอนามัยโลก ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อลดการบริโภคยาสูบ การเป็นเจ้าภาพและเป็นสถานที่จัดงานเพื่อส่งเสริมการตลาดยาสูบเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของอนุสัญญาดังกล่าวโดยตรง
2. ประเทศไทยเป็นผู้นำเรื่องการควบคุมยาสูบที่ได้รับการยอมรับอย่างมากทั้งในภูมิภาคและทั่วโลก การยอมให้มีการจัดแสดงสินค้ายาสูบระดับนานาชาติเช่นนี้โดยไม่ทำอะไรเลย อาจจะเป็นการส่งสัญญาณถึงการยอมรับของการจัดงานนี้อีกเรื่อยๆ ในอนาคต
3. ประเทศไทยเป็นประธานการจัดประชุม ASEAN summit 2009 ซึ่งแสดงถึงบทบาทสำคัญของความเป็นผู้นำของประเทศไทยในภูมิภาคนี้ ซึ่งการเป็นเจ้าภาพและเจ้าของสถานที่จัดงานแสดงสินค้าที่ส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพและเศรษฐกิจของคนในภูมิภาค อาจทำให้ความน่าเชื่อถือของประเทศลดลงในสายตาของประชาคมอาเซียน
4. ประเทศไทยมีกฎหมายห้ามโฆษณาสินค้ายาสูบไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดๆ งานแสดงสินค้ายาสูบต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเช่นเดียวกัน

ผลกระทบต่อเยาวชนจะมีโอกาสถูกกระตุ้นให้สูบบุหรี่มากขึ้น
1. การลงทุนเพื่อพัฒนารูปแบบของผลิตภัณฑ์ยาสูบใหม่ๆ ล้วนมีวัตถุประสงค์เพื่อให้
- ได้สินค้าใหม่ที่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้มากกว่าสินค้าเดิม หรือพูดง่ายๆ คือ เพื่อให้สามารถขายสินค้าได้มากกว่าเดิม
- เพื่อขยายตลาด ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่า ผู้ที่ติดบุหรี่อยู่แล้วมักจะสูบบุหรี่
ยี่ห้อเดิม ในขณะที่กลุ่มผู้สูบบุหรี่หน้าใหม่ ซึ่งมีอายุเฉลี่ยที่เริ่มสูบบุหรี่ที่อายุ 18 ปีก็มักจะเลือกบุหรี่ยี่ห้อแรกที่ลองเป็นบุหรี่ที่จะสูบตลอดไป ดังนั้นการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จึงเป็นจุดสำคัญที่สามารถดึงดูดผู้สูบบุหรี่หน้าใหม่ได้
2. เป็นการส่งสัญญาณให้เยาวชนคิดว่าการสูบบุหรี่เป็นเรื่องที่ปกติ เพราะอุตสาหกรรมยาสูบสามารถจัดงานยิ่งใหญ่ในสถานที่จัดงานที่เป็นที่ภาคภูมิใจของคนไทย
เยาวชนร้องขอผู้ใหญ่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับบริษัทบุหรี่
นางสาวดวงกมล ภวภูตานนท์ฯ นักเรียน ร.ร. รัตนโกสินทร์สมโภชบางขุนเทียน ได้แสดงถึงความเป็นห่วงของเยาวชนเกี่ยวกับการประชุม และเชิญชวนเพื่อนนักเรียนมอบดอกไม้ขอบคุณวิทยากรที่มาร่วมระดมสมองเพื่อคุ้มครองเยาวชน ดวงกมลกล่าวว่า พวกเรารู้สึกตกใจมากที่จะมีการจัดงานเอ๊กซโปของบริษัทบุหรี่ขึ้นที่ประเทศไทย เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยได้พยายามรณรงค์ให้คนไทยไม่สูบบุหรี่ การที่เขาเลือกมาจัดงานใหญ่ระดับนานาชาตินี้ถึงในบ้านเรา จึงเป็นเรื่องที่แน่นอนว่า บริษัทบุหรี่คิดไม่ดีกับเด็กไทยแน่ๆ พวกเราจึงขอเรียกร้องดังนี้
1. ขอให้ท่านนายกรัฐมนตรี และท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ติดตามดูงานเอ๊กซโปนี้อย่างใกล้ชิดว่าจะมีการกระทำที่ผิดกฎหมายหรือไม่
2. ขอให้ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองอย่าไปร่วมกิจกรรมนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดงาน หรือการเยี่ยมชมบูธต่างๆก็ตาม เพราะถึงอย่างไรก็เป็นงานขายสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพซึ่งไม่น่าจะไปยุ่งเกี่ยว จะทำให้เสียภาพพจน์ของประเทศไทย
3. ขอให้พี่ๆ สื่อมวลชน ไม่นำเสนอข่าวงาน TABINFO ASIA 2009 ทางสื่อต่างๆ เพราะการเสนอข่าวดังกล่าวเท่ากับเป็นการโฆษณาทางอ้อมให้แก่บริษัทบุหรี่
พ่อค้าบุหรี่ฆ่าลูกค้าตัวเอง
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า เมื่อ 4 ปีที่แล้วมีการจัดงานเอ็กซโปบุหรี่ในมาเลเซีย และไม่เคยคิดว่าบริษัทบุหรี่จะมาจัดที่ประเทศไทย และมีข้อมูลขององค์การอนามัยโลกที่ชี้ให้เห็นว่า การระบาดของโรคต่างๆ ล้วนมีต้นเหตุจากพาหะนำโรค แต่สำหรับการระบาดของโรคที่เกิดจากบุหรี่นั้นไม่ใช่ระบาดเพราะเชื้อโรค แต่ระบาดเพราะการทำตลาดของบริษัทบุหรี่ จึงอยากเชิญชวนทุกคนร่วมระดมสมองว่า เราควรดำเนินการอย่างไรที่จะเปิดโปงและสกัดกั้นการทำตลาดของบริษัทบุหรี่ ที่เป็นพาหะของโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ เพราะน่ากลัวเหลือเกิน โดยดูได้จากคำโฆษณาเชิญชวนการเข้าร่วมงานเอ็กซโปของบริษัทบุหรี่ในครั้งนี้ ที่เขียนไว้ว่า “ถ้าคุณเกี่ยวข้องอยู่ในอุตสาหกรรมยาสูบในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก นี่เป็นกิจกรรมที่คุณพลาดไม่ได้ นี่เป็นโอกาสที่คุณจะได้พบปะกับผู้ที่มีบทบาทหลักในตลาดยาสูบที่ใหญ่ที่สุดของโลก และมีอัตราการเติบโตเร็วที่สุด” คำโฆษณาบอกถึงเป้าหมายของการทำตลาดในเอเชีย ที่เป็นลูกค้ารายใหญ่ของบริษัทบุหรี่ และที่เขาบอกว่าเป็นตลาดที่มีอัตราการเติบโตเร็วที่สุด การเติบโตของตลาดบุหรี่ล้วนมาจากนักสูบหน้าใหม่ ซึ่งก็คือเยาวชนในเอเชียรวมถึงประเทศไทย จึงต้องมีการระดมความคิดเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงนี้อย่างรู้เท่าทัน

มาตรการป้องกันคนไทยจากพ่อค้าบุหรี่
นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ได้กล่าวถึง วัตถุประสงค์ของการจัดงานเอ็กซโปบุหรี่ขึ้นในบ้านเราว่า เป็นความตั้งใจในการทดสอบสมรรถนะหรือความสามารถในการควบคุมยาสูบไทย ซึ่งถือว่าเป็นประเทศที่มีความเข้มแข็งในการควบคุมยาสูบ สำหรับทางกระทรวงสาธารณสุข จะมีการดำเนินมาตรการต่างๆ ตามกรอบอนุสัญญาควบคุมยาสูบที่ประเทศไทยได้ลงนามไป และจะออกมาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมพ่อค้าบุหรี่ ได้แก่ การสกัดกั้นการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ยาสูบเพื่อป้องกันเยาวชนในทุกรูปแบบ การห้ามโฆษณาหรือแสดงชื่อผลิตภัณฑ์ยาสูบ หรือเครื่องหมายที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ยาสูบทางสื่อสารมวลชนต่างๆ การห้ามจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาสูบกับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เป็นต้น ซึ่งหากการจัดงานเอ็กซโปครั้งนี้มีการกระทำความผิดจะดำเนินการตามกฎหมาย และดำเนินการตามมาตรา 5.3 ของกรอบอนุสัญญาที่กำหนดให้หน่วยงานต่างๆ ของรัฐ ไม่เข้าไปมีส่วนยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมใดๆ ที่จัดโดยบริษัทบุหรี่

บริษัทบุหรี่ขาดความน่าเชื่อถือในสายตาประชาชน
อาจารย์เทวินทร์ อินทรจำนงค์ ผู้แทนจากสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ นำเสนอผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับภาพลักษณ์การประกอบวิชาชีพ จากประชาชนอายุ 18 – 60 ปี จำนวน 1,199 คน พบว่า ผู้ประกอบการอาชีพธุรกิจบุหรี่รายใหญ่ได้รับความน่าเชื่อถือน้อยที่สุด เป็นลำดับที่ 3 รองจากนักการเมืองและผู้ประกอบธุรกิจแอลกอฮอล์ โดยประชาชนได้ให้เหตุผลถึงความไม่เชื่อถือต่อผู้ประกอบการธุรกิจบุหรี่และแอลกอฮอล์ว่า เป็นเพราะธุรกิจนี้ผลิตสินค้าที่ทำลายสุขภาพ เป็นธุรกิจที่ไม่ส่งผลดีต่อสังคม เป็นอันตรายต่อส่วนรวม และเป็นการส่งเสริมให้ผู้คนติดสิ่งเสพติดและสิ่งมึนเมา
ทำไมจึงนิ่งเฉยไม่ได้เมื่อพ่อค้าบุหรี่จัดงานเอ็กซโปในประเทศไทย

ผศ.ดร.ปิยรัตน์ นิ่มเจริญพงศ์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า มีข้อสังเกตว่า งานเหล่านี้แต่เดิมบริษัทบุหรี่ใช้ชื่อว่า “EXPO” ซึ่งหมายถึงงานแสดงสินค้า แต่ระยะหลังเปลี่ยนชื่องานนี้เป็น “TEBINFO” เพื่อลดกระแสต่อต้านจากสังคม ซึ่งเป็นการประชุมให้ข้อมูลกับผู้มีความเชี่ยวชาญด้านการทำตลาดยาสูบ ผศ.ดร.ปิยะรัตน์ได้ตั้งข้อสังเกตว่า เป็นเพราะประเทศไทยเป็นประตูเข้าสู่ภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เป็นตลาดยาสูบที่ใหญ่และเติบโตเร็วที่สุด และข้อสำคัญประเทศไทยเป็นผู้นำในการควบคุมยาสูบที่ดีอันต้นๆ ของโลก หากจัดที่ประเทศไทยได้ นั่นหมายถึงมีชัยชนะต่อการควบคุมยาสูบ ดังนั้นเราจึงนิ่งเฉยไม่ได้ เนื่องจากการจัดงานแสดงสินค้าอุตสาหกรรมยาสูบ จะเป็นการส่งเสริมและขยายผลรูปแบบนวตกรรมใหม่ๆ ของสินค้าแห่งความตาย และส่งผลให้เยาวชนเข้าถึงสินค้าบุหรี่ได้มากกว่าเดิม การจัดงานนี้เป็นการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้และการแลกเปลี่ยนกลยุทธ์การตลาดของเครือข่ายอุตสาหกรรมยาสูบ ซึ่งเป็นอันตรายต่อประเทศต่างๆ ในการสกัดกั้น และยังได้แลกเปลี่ยนวิธีการและเทคนิคการขัดขวางและแทรกแซงกฎหมายควบคุมยาสูบ รวมถึงการบังคับใช้กฎหมาย สิ่งเหล่านี้เป็นการบั่นทอนการทำงานควบคุมยาสูบ ซึ่งหากเราไม่ทำอะไรคงคาดเดากันได้ว่า “อนาคตของเยาวชนจะเป็นอย่างไรกับสินค้าที่ขายความตายกับผู้บริโภค”

บทเรียนจากมาเลเซียให้ข้อคิดกับประเทศไทย
คุณบังอร ฤทธิภักดี ผู้อำนวยการเครือข่ายการควบคุมการบริโภคยาสูบแห่งอาเซียน (SEATCA) นำเสนอบทเรียนจากประเทศมาเลเซียว่า เพื่อนนักรณรงค์ในประเทศมาเลเซียได้เข้าไปร่วมสังเกตการณ์ในงาน และได้ถ่ายภาพโฆษณาเป็นภาพผู้หญิงในมือคีบบุหรี่ที่สวยงามมาก สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าบริษัทบุหรี่พุ่งเป้าการตลาดมาที่ผู้หญิง และงานนี้มีเป้าหมายในการแสดงนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สามารถทำตลาดได้แม้จะมีกฎหมายที่เข้มงวด อย่างเช่น การแสดงซองบุหรี่ต่างๆ เช่น ซองบุหรี่แบบแยกเป็น 2 ด้านได้ เพื่อให้ดูเหมือนกระเป๋าใส่ของ เป็นการออกแบบเพื่อต้านกฎหมายห้ามแบ่งขายบุหรี่ ซึ่งมีข้อมูลมาว่าบริษัทบุหรี่เคยเสนอนำเข้าซองแบบนี้ในประเทศไทย แต่กระทรวงสาธารณสุขของไทยไม่อนุญาต อีกแบบเป็นการออกแบบซอง ที่เป็นวิทยาการใหม่ทำให้ยี่ห้อบุหรี่มองเห็นในที่มืด เป็นเทคนิคแบล็คไลท์ ซึ่งสามารถนำไปโฆษณาตามผับบาร์ได้ หรือนวัตกรรมประเภทออกแบบซองให้มีลักษณะเหมือนกล่องลิปสติก ในกล่องมีบุหรี่มวนสวยงามที่แสดงถึงการพุ่งเป้าหมายมาที่ผู้หญิง อีกทั้งลักษณะการออกแบบซองเช่นนี้จะทำให้คำเตือนบนซองบุหรี่ที่เป็นรูปภาพไม่มีความหมาย ดังนั้น สิ่งเหล่านี้จะเป็นบทเรียนสำคัญที่ควรจับตามอง และดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อเปิดโปงให้สังคมรับทราบ ดังเช่นประเทศมาเลเซียสื่อมวลชนได้ให้ความร่วมมือนำเสนอข่าวการต่อต้านงานเอ็กซโป ซึ่งเป็นการสร้างความตื่นตัวให้กับสาธารณะในการรู้เท่าทันการตลาดของบริษัทบุหรี่

ข้อเสนอจากที่ประชุม “จะรับมือพ่อค้าบุหรี่อย่างไร”
1. เราต้องเปลี่ยนวิกฤตของการจัดเอ็กซโปบุหรี่ในไทยให้เป็นโอกาสในการให้การศึกษากับสังคมถึงเรื่องกลยุทธ์การตลาดของบริษัทบุหรี่ และนำมาเป็นตัวกระตุ้นการพัฒนามาตรการควบคุมยาสูบของไทยให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น
2. ใช้วิกฤตนี้เป็นโอกาสของการเปิดโปงกลยุทธ์การตลาดของบริษัทบุหรี่อย่างเป็นรูปธรรมให้แก่สังคม
3. เป็นโอกาสของการสร้างความร่วมมือในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในการเปิดโปงกลยุทธ์การตลาดของบริษัทบุหรี่กับภาคีต่างๆ ในสังคม
4. ใช้มาตรการทางกฎหมายของไทยหากมีการกระทำผิดกฎหมาย เช่น การให้สูบบุหรี่ในงาน การโฆษณาสินค้าบุหรี่ หรือการขายบุหรี่ เป็นต้น
5. สร้างสรรค์งานวิชาการเพื่อคัดง้างนวัตกรรมการตลาดของบริษัทบุหรี่
6. พัฒนากลยุทธ์การสื่อสารที่ทันกับนวัตกรรมการตลาดของบริษัทบุหรี่
7. ให้เยาวชนเป็นผู้นำและผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการทำงานครั้งนี้และจะเป็นผู้ที่ร่วมสร้างประวัติศาสตร์ในการควบคุมยาสูบ และปกป้องตนเองจากการเป็นเหยื่อการตลาดของบริษัทบุหรี่
เรียบเรียงโดย : ชูรุณี พิชญกุลมงคล ฝ่ายศูนย์ข้อมูล มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ วันที่ 23 มิถุนายน 2552 / www.ashthailand.or.th