วันศุกร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2552

มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
ACTION ON SMOKING AND HEALTH FOUNDATION
ศูนย์ข่าว มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่

วันที่ 3 มิถุนายน 2552
วันที่ข่าวตีพิมพ์ : สามารถเผยแพร่ได้ทันที


บุหรี่ทำลายสิ่งแวดล้อม

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผยในโอกาสวันสิ่งแวดล้อมโลกถึงข้อมูลที่ธุรกิจยาสูบและการสูบบุหรี่ที่ทำลายสิ่งแวดล้อม และส่งผลต่อภาวะโลกร้อน โดยควันบุหรี่ประกอบด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน การสูบบุหรี่ทั่วโลกก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 2.6 ล้านตัน และก๊าซมีเทน 5.2 ล้านตันต่อปี ในขณะที่การทำไร่ยาสูบและขบวนการผลิตบุหรี่ ทำให้เกิดการทำลายป่า ทำให้มีป่าไม้ที่จะดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลง


โดยข้อมูลที่สำรวจโดยธนาคารโลก เมื่อ พ.ศ. 2527 ทั่วโลกใช้ฟืนบ่มใบยาต่อปี เท่ากับ 175 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งต้องใช้ฟืนจำนวนพื้นที่ป่าเท่ากับ 15.5 ล้านไร่ และมีพื้นที่ป่าที่จะต้องปลูกทดแทน 108 ล้านไร่ อันเป็นผลจากการทำไร่ยาสูบ และเนื่องจากราคาน้ำมันที่แพงขึ้นทุกขณะ เชื้อเพลิงที่ใช้ในการบ่มใบยาจึงยังคงเป็นไม้ฟืนจากการทำลายป่า ทั้งนี้ทั่วโลกมี 120 ประเทศ ที่มีพื้นที่ทำไร่ยาสูบรวมกว่า 4 ล้านเอเคอร์ ร้อยละ 85 ของการทำไร่ยาสูบอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา การทำไร่ยาสูบต้องใช้ยาฆ่าแมลงและยาฆ่าวัชพืชเป็นจำนวนมาก สารพิษเหล่านี้จะตกค้างอยู่ในพื้นดินและลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ การทำไร่ยาสูบมีผลตอบแทนสูง แต่ผลตอบแทนส่วนใหญ่ตกเป็นของบริษัทบุหรี่และพ่อค้าคนกลาง ชาวไร่ยาสูบต้องทำงานหนักที่สุดแต่เป็นฝ่ายที่ได้รับผลตอบแทนต่ำที่สุดในบรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตบุหรี่
นอกจากนี้ การสูบบุหรี่ยังเป็นสาเหตุของไฟไหม้ป่าและไฟป่า ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้น โดยการสูบบุหรี่เป็นสาเหตุของการเกิดไฟไหม้ ร้อยละ 10 ของไฟไหม้ทั่วโลก ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 แสนคน สร้างความเสียหายของทรัพย์สินเท่ากับ สองหมื่นเจ็ดพันล้านดอลลาร์


นอกจากภาวะโลกร้อนแล้ว การสูบบุหรี่ยังทำให้เกิดขยะในรูปของซองบุหรี่และก้นบุหรี่จำนวนมาก ก้นบุหรี่เหล่านี้ทำด้วยเซลลูโลสอะซิเตท ซึ่งเป็นพลาสติกชนิดหนึ่งที่ต้องใช้เวลาย่อยสลาย 10 ถึง 15 ปี ในสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ ในแต่ละปีมีก้นบุหรี่กว่า 5 ล้านล้านชิ้นทั่วโลก มีน้ำหนักรวมกันถึง 845,000 ตัน ข้อมูลจาก 91 ประเทศที่มีชายทะเลและชายหาด ในปี พ.ศ. 2546 พบว่า ขยะที่เกิดจากบุหรี่อันประกอบด้วยซองและก้นบุหรี่มีปริมาณหนึ่งในสามของขยะทั้งหมดของชายทะเลและชายหาด ก้นบุหรี่เป็นขยะที่สำคัญในท้องถนน


ในเมืองใหญ่ อันเป็นผลจากการห้ามสูบบุหรี่ในอาคาร ก้นบุหรี่เหล่านี้ถูกทิ้งตามข้างถนน ถูกน้ำพัดพาลงคูคลอง จนลงสู่ทะเล อาจจะถูกกินโดยนกและปลา ส่วนที่ตกค้างอยู่ในดินยาเส้นที่หลงเหลืออยู่ก็จะเป็นสารพิษ เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม เฉพาะประเทศไทยในแต่ละวันมีก้นบุหรี่เกิดขึ้นกว่า 100 ล้านชิ้น ตกค้างอยู่ในที่ต่าง ๆ


ที่สำคัญควันบุหรี่เป็นมลพิษในอากาศภายในอาคารที่อันตรายที่สุด โดยควันบุหรี่ในสิ่งแวดล้อมประกอบด้วยสารพิษมากกว่า 250 ชนิด และเป็นสารก่อมะเร็งมากกว่า 60 ชนิด ครึ่งหนึ่งของเด็ก ๆ ทั่วโลก หรือเท่ากับ 700 ล้านคน ได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้านและในที่สาธารณะ ในขณะที่มีคนไทย 16 ล้านคน ที่ได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้าน ไอแอลโอ หรือ องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ ประเมินว่าในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากการได้รับควันบุหรี่มือสองในที่ทำงาน 2 แสนคน และองค์การอนามัยโลกระบุว่า ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากการได้รับควันบุหรี่มือสองปีละ 5 แสนคน


ศ.นพ.ประกิต เรียกร้องในวันสิ่งแวดล้อมโลก ให้ผู้สูบบุหรี่ทิ้งก้นบุหรี่ในที่เก็บขยะ ไม่ทิ้งบุหรี่ตามข้างทางขณะที่ขับรถ ขอความร่วมมือให้ไม่สูบบุหรี่ในที่สาธารณะ ที่ทำงาน และในบ้าน เพื่อลดโอกาสที่คนอื่นจะได้รับควันบุหรี่มือสอง และเพื่อให้เป็นไปตามพันธกรณีที่ประเทศไทยมีภายใต้อนุสัญญาควบคุมการบริโภคยาสูบองค์การอนามัยโลก ที่จะต้องทำให้ประเทศไทยปลอดบุหรี่ในที่สาธารณะ และที่ทำงาน ภายในปี พ.ศ. 2553


ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ : ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
โทร. 02-278-1828 / 081-822-9799