วันอังคารที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2551

ชี้พ่อแม่สิงห์อมควัน ทำลูกเสี่ยงใหลตาย



พบพ่อแม่สิงห์อมควันทำเด็กเล็กป่วยจากควันบุหรี่อื้อ เสี่ยงโรคใหลตายมากกว่าปกติ 2.5 เท่า พบเด็กต่ำกว่า 12 ปี มีผู้ปกครองสูบบุหรี่ 63%
เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ร่วมกับมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ (มสบ.) จัดงานแถลงข่าว "เปิดโครงการสถานบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี "ต้นแบบในการรณรงค์ให้บ้านปลอดบุหรี่" ที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี
พญ. ศิราภรณ์ สวัสดิวร ผู้อำนวยการสถานบัน กล่าวว่า ปัญหาควันบุหรี่มือสอง กำลังเป็นภัยร้ายของเด็กเล็ก จากข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อปี 2547 พบว่ามีครัวเรือน 7.3 บ้านครัวเรือน ที่มีสมาชิกอย่างน้อยหนึ่งคนสูบบุหรี่ และมีประชากรอายุต่ำกว่า 5 ปี จำนวน 2.28 ล้านคนที่ได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้าน ซึ่งจากการสำรวจใน ปี 2550 ยังยืนยันว่า ร้อยละ 58.9 หรือ 6.3 ล้าน คน จากจำนวน ผู้สูบบุหรี่ทั้งหมด 10.8 ล้านคน นิยมสูบบุหรี่ขณะอยู่ในบ้าน แสดงให้เห็นว่าเด็ก ๆ ไม่สามารถหลีกเลี่ยงจากภัยของควันบุหรี่ได้เลย



รศ.นพ. สรศักดิ์ โล่จินดารัตน์ ผู้แทนราชวิยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า เด็กเป็นผู้ได้รับอันตรายจากควันบุหรี่ในบ้านในระดับสูง เพราะเด็ก ๆ มีระบบทางเดินหายใจที่เล็ก อัตราการหายใจเร็วกว่าผู้ใหญ่ และระบบป้องกันภายในร่างกายยังไม่แข็งแรง เหมือนผู้ใหญ่ จึงทำให้เด็กได้รับผลกระทบจากควันบุหรี่มากกว่าผู้ใหญ่หลายเท่า โดยควันบุหรี่มือสองเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคใหลตายในเด็ก หรือโรค SIDS ทำให้เกิดการตายในเด็กตั้งแต่ในครรภ์มารดา และตายเมื่อเป็นทารก โดยพบว่าครอบครัวที่มีพ่อสูบบุหรี่จะทำให้เด็กเสี่ยงเป็ฯโรคใหลตายเพิ่มขึ้นถึง 2.5 เท่า และหากทั้งพ่อและแม่สูบบุหรี่ความเสี่ยงก็จะเพิ่มเป็น 4 เท่า



รศ.นพ.สุวัฒน์ เบญจพลพิทักษ์ อุปนายกสมาคมโรคภูมิแพ้ และวิทยาภูมิคุ้มกันแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โรคภูมิแพ้ในเด็กมีสาเหตุมาจาก 2 ปัจจัย คือ พันธุกรรม และสิ่งแวดล้อม โดยปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมมักเกิดจากการได้รับควันบุหรี่ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ซึ่งส่งผลให้เกิดโรคหอบหืด และโรคภูมิแพ้อากาศ โดยโรคหอบหืดในเด็กไทยพบร้อยละ 12-13 หรือประมาณ 3 ล้านคน แต่โรคนี้มีอันตรายมากกว่าเพราะหากรุนแรงอาจจะทำให้เสียชีวิตได้ ส่วนโรคภูมิแพ้อากาศพบมากถึงร้อยละ 30 ซึ่งโรคดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต ทำให้มีอาการไอ จามตลอดเวลา ขณะเดียวกันกลุ่มคนที่เป็นโรคภูมิแพ้อยู่แล้วก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ



รศ.พญ.มุกดา หวังวีรวงศ์ หัวหน้าโครงการสถาบันกล่าวว่า สถาบันได้ร่วมกับสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ ทำการสำรวจความคิดเห็นต่อการรณรงค์ “บ้านปลอดบุหรี่” ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ – พฤษภาคม 2551 โดยสำรวจพ่อแม่ ผู้ปกครอง ที่มีบุตรหลานอายุตั้งแต่แรกเกิด – 12 ปี ที่นำมารับบริการที่สถาบัน จำนวน 658 คน พบว่าร้อยละ 63.4 เป็นผู้สูบบุหรี่ โดยสูบเฉลี่ยวันละ 10.83 มวน หรือเฉลี่ยสูบ 24 วันต่อเดือน นอกจากนี้ ร้อยละ 82 ของพ่อแม่ ผู้ปกครองที่สูบบุหรี่ยอมรับว่ามีการสูบบุหรี่ในบ้านจริง ขณะที่ร้อยละ 29.2 ยอมรับว่ามีบุตรหลานอยู่ใกล้ขณะที่พ่อแม่ผู้ปกครองสูบบุหรี่ และร้อยละ 35 เคยเห็นบุตรหลานเลียนแบบท่าทางการสูบบุหรี่ ที่สำคัญร้อยละ 86 ของกลุ่มตัวอย่างเชื่อว่า ผู้ที่รับควันบุหรี่มือสอง มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคต่าง ๆ ได้เช่นเดียวกับคนที่สูบบุหรี่ แต่จากการสำรวจพบว่าผู้ปกครองไม่ถึงครึ่งที่ว่าโรคต่าง ๆ ในเด็กเกี่ยวข้องกับการได้รับควันบุหรี่มือสอง



“ผู้ปกครองทราบว่า ควันบุหรี่มือสองทำให้เด็กเป็นหวัดบ่อยขึ้นเพียงร้อยละ 37 การติดเชื้อทางเดินหายใจร้อยละ 51.8 หลอดลมอักเสบร้อยละ 48.8 หืดจับบ่อยขึ้นร้อยละ 53.8 หูน้ำหนวกร้อยละ 17.4 และใหลตายในเด็กเพียงร้อยละ 17 จึงมีความจำเป็นที่สถานบริการทุกแห่งจต้องร่วมกันให้ความรู้แก่ผู้ปกครองถึงโรคต่าง ๆ ที่เกิดจากการได้รับควันบุหรี่มือสอง ซึ่งจากการสำรวจ พบว่าร้อยละ 84 ของผู้ปกครองเห็นด้วยกับการรณรงค์ให้บ้านเป็นเขตปลอดบุหรี่” รศ.พญ. มุกดากล่าว

ที่มา : หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก วันที่ 5 ธันวาคม 2551