วันจันทร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2551

การศึกษาเปรียบเทียบความสามารถด้านการคิดแก้ปัญหา สัมฤทธิผลทางการเรียน และเจตคติที่มีต่อบุหรี่ของนักเรียน

รายงานผลการศึกษาค้นคว้า

เรื่อง การศึกษาเปรียบเทียบความสามารถด้านการคิดแก้ปัญหา สัมฤทธิผลทางการเรียน และเจตคติที่มีต่อบุหรี่ของนักเรียนที่เรียนชุดกิจกรรมแนะแนว เรื่องภัยบุหรี่ โดยการจัดการเรียนรู้แบบเสาะแสวงหาความรู้ (5Es)ที่สอดแทรกการฝึกคิดวิจารณญาณ และโดยการจัดการเรียนรู้แบบ 4 MATโดยได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่

ผู้วิจัย นางสุวิมล จันทร์เปรมปรุง ครูชำนาญการพิเศษ กลุ่มกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน (งานแนะแนว) โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยา พุทธมณฑล สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา กรุงเทพมหานคร เขต 3 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ



ความเป็นมา/ความสำคัญ

เยาวชนจะต้องเผชิญกับสภาพการณ์ที่หลากหลายและแปรเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ในยุคที่ข่าวสารข้อมูลเข้าถึงผู้บริโภคอย่างประชิดตัวในทั่วทุกมุมโลก สภาพแวดล้อมรอบๆตัวผู้เรียนจึงเต็มไปด้วยความหลากหลายของค่านิยมทางสังคม ที่มีผลต่อพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ทั้งที่เป็นผลกระทบด้านบวก และด้านลบ อาทิเช่นพฤติกรรมการสูบบุหรี่ เป็นค่านิยมหนึ่งที่วัยรุ่นถูกปลุกเร้าให้เกิดความสนใจในการสูบบุหรี่ตามบริบทของสังคมในชีวิตประจำวัน ซึ่งค่านิยมการสูบบุหรี่ถูกสร้างขึ้นด้วยยุทธวิธีต่างๆของผู้ประกอบการค้ายาสูบ แม้ว่าจำนวนและอัตราการสูบบุหรี่ของเยาวชนไทยที่สูบบุหรี่เป็นประจำ จะลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ.2534-2549 เมื่อพิจารณากลุ่มเยาวชนอายุ11-14 ปี พบว่าร้อยละของการเปลี่ยนแปลงอัตราการสูบบุหรี่ ของผู้สูบครั้งคราว มีแนวโน้มสูงขึ้นมาก จากปี พ.ศ.2534 กับ ปี พ.ศ.2549 คิดเป็น 300% (ศรัญญา เบญจกุล และคณะ 2550 : 4) ทั้งนี้แสดงให้เห็นว่าเยาวชนอายุ 11-14 ปี มีแนวโน้มอยากทดลองสูบบุหรี่เพิ่มมากขึ้น และหากไม่มีวิธีการใดๆในการสกัดกั้น เยาวชนกลุ่มนี้ก็จะเพิ่มจำนวนสูงขึ้นและกลายเป็นผู้สูบประจำในที่สุด













สำหรับนักเรียนโรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยา พุทธมณฑล เมื่อสัมภาษณ์นักเรียนและประมวลถานการณ์ยุ่งเกี่ยวกับบุหรี่ พบว่า นักเรียนส่วนหนึ่งอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ได้รับควันบุหรี่จากบุคคลใกล้ชิดในชีวิตประจำวัน และนักเรียนส่วนหนึ่งให้ความสนใจกับการสูบบุหรี่ ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกว่า นักเรียนควรได้รับการดูแลช่วยเหลือให้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องอันตรายของควันบุหรี่ และมีทักษะการดำเนินชีวิตที่ปลอดจากควันบุหรี่ รวมทั้งรู้จักดูแลตนเองและคนใกล้ชิดให้ปลอดจากควันบุหรี่ ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วยการสร้างสรรค์บ้านปลอดบุหรี่ โรงเรียนปลอดบุหรี่ และชุมชนปลอดบุหรี่

ผู้รายงานได้ร่วมโครงการโรงเรียนนำร่องพัฒนาหลักสูตรโรงเรียนปลอดบุหรี่โดยนำแผนการจัดการเรียนรู้เพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ ไปทดลองใช้จัดการเรียนรู้ในคาบกิจกรรมแนะแนว ให้แก่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 2 ห้องเรียน และนักเรียนชุมนุมวัยใสไร้ควันบุหรี่ จำนวน 1 กลุ่ม ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2549 จำนวน 15 คาบ ผลปรากฎว่า หลังเรียนนักเรียนมีความรู้ความเข้าใจเรื่องบุหรี่สูงกว่าก่อนเรียน และเมื่อศึกษาผลการสำรวจความคิดเห็นของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่.2 ที่มีต่อการทดลองใช้หลักสูตรโรงเรียนปลอดบุหรี่ พบว่า นักเรียนมีความคิดเห็นระดับมากในประเด็น ความรู้ใหม่เรื่องบุหรี่ที่ได้รับจากการจัดการเรียนรู้ ( = 4.09 , S.D. = 0.68) มีความต้องการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เช่นนี้ให้แก่เยาวชนคนอื่น( = 3.89, S.D. = 0.93) และการเรียนรู้เช่นนี้สามารถสร้างกระแสให้เยาวชนไม่สูบบุหรี่ ( = 3.76 , S.D. = 0.86) ในขณะเดียวกันที่ผู้เรียนมีความเห็นว่าสื่ออุปกรณ์/เอกสารการสอนมีความน่าสนใจในระดับปานกลาง ( =3.49, S.D. = 0.91) รวมทั้งผู้เรียนมีความพึงพอใจในการร่วมกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้หลักสูตรโรงเรียนปลอดบุหรี่ในระดับปานกลาง ด้วยเหตุนี้ผู้รายงานจึงวางแผนปรับปรุงกิจกรรมการเรียนรู้ให้มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น และสร้างความพึงพอใจในการเรียนรู้เพิ่มมากขึ้น โดยสังเกตว่า นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 และ มัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งผู้รายงานรับผิดชอบจัดการเรียนรู้กิจกรรมแนะแนว มักชอบอ่านหนังสือการ์ตูน และวาดภาพการ์ตูน และเมื่อสุ่มสอบถามนักเรียนกลุ่มหนึ่งพบว่านักเรียนอยากให้มีการ์ตูนในบทเรียน เพราะสามารถดึงดูดความสนใจของผู้เรียนได้มากกว่าการอ่านตัวอักษรเพียงอย่างเดียว ผู้รายงานจึงผลิตสื่อชุดการเรียน เรื่อง ภัยบุหรี่ ที่มีบทเรียนการ์ตูน เรื่อง วายร้ายบุหรี่เป็นสื่อประกอบชนิดหนึ่ง และทำการศึกษาวิจัยในชั้นเรียน โดยศึกษาเปรียบเทียบผลของการใช้ชุดการเรียน เรื่อง ภัยบุหรี่ ที่มีบทเรียนการ์ตูน กับ ที่ไม่มีบทเรียนการ์ตูน ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2550 พบว่า ความรู้ความเข้าใจ และเจตคติที่มีต่อบุหรี่ ของผู้เรียนทั้งสองกลุ่มแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ แต่พบความแตกต่างอย่างนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 ในเรื่องความคิดเห็นที่มีต่อการจัดการเรียนรู้เรื่อง ภัยบุหรี่ โดยใช้ชุดการเรียนที่มีบทเรียนการ์ตูนและไม่มีบทเรียนการ์ตูน กล่าวคือ นักเรียนมีความคิดเห็นว่า ชุดการเรียนที่มีบทเรียนการ์ตูนมีความน่าสนใจมากกว่า นักเรียนได้รับความสนุกสนาน และมีความพึงพอใจในสื่อบทเรียนการ์ตูนมากกว่า ( = 4.81 , S.D. = 0.40 , = 4.53 , S.D. = 0.65 และ = 4.57 , S.D. = 0.65 ตามลำดับ






จากรายงานการประเมินคุณภาพภายนอกของ สมศ.รอบที่ 1 พบว่า โรงเรียน นวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยา พุทธมณฑล มีมาตรฐานด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนอยู่ในระดับพอใช้ ซึ่งน้อยกว่ามาตรฐานอื่นๆ ผู้รายงานจึงพิจารณาทบทวนกระบวนการเรียนรู้ ในชุดกิจกรรม เรื่อง ภัยบุหรี่ และวางแผนพัฒนานวัตกรรมดังกล่าวให้มีคุณค่าต่อผู้เรียนในด้านฝึกทักษะการคิด เพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และดึงดูดความสนใจเรียนของผู้เรียนเพื่อพัฒนาตนตามธรรมชาติ และเต็มตามศักยภาพ
ผู้รายงานได้ใช้แนวคิดทฤษฎีการสร้างความรู้ (Constructivism ) ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และส่งเสริมการสร้างความรู้ด้วยตนเอง ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาทักษะการคิดระดับสูง เป็นแนวทางพื้นฐานในการผลิตชุดกิจกรรมแนะแนว เรื่อง ภัยบุหรี่ โดยการจัดการเรียนรู้แบบเสาะแสวงหาความรู้ (5Es) ที่สอดแทรกการฝึกคิดวิจารณญาณ และผลิตชุดกิจกรรมแนะแนว เรื่อง ภัยบุหรี่ โดยการจัดการเรียนรู้ แบบ 4 MATซึ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาสมองทั้งสองซีกอย่างสมดุล แล้วนำไปทดลองใช้ เพื่อศึกษาเปรียบเทียบผลการพัฒนาผู้เรียน









บทคัดย่อ

การศึกษาค้นคว้าครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเปรียบเทียบความสามารถด้านการคิดแก้ปัญหา สัมฤทธิผลทางการเรียน เจตคติที่มีต่อบุหรี่ ความคิดเห็นที่มีต่อการเรียนชุดกิจกรรมแนะแนว เรื่อง ภัยบุหรี่ ตรวจสอบประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมแนะแนว เรื่อง ภัยบุหรี่ โดยการจัดการเรียนรู้แบบเสาะแสวงหาความรู้ (5Es) ที่สอดแทรกการฝึกคิดวิจารณญาณ และตรวจสอบประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมแนะแนว เรื่อง ภัยบุหรี่ โดยการจัดการเรียนรู้แบบ 4 MAT กลุ่มตัวอย่างในการศึกษาครั้งนี้คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียน นวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยา พุทธมณฑล จำนวน 2 ห้องเรียน จำนวนห้องละ 48 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้า ได้แก่แบบวัดความสามารถด้านการคิดแก้ปัญหา แบบวัดสัมฤทธิผลทางการเรียน แบบวัดเจตคติที่มีต่อบุหรี่ และแบบสอบถามความคิดเห็นของผู้เรียนที่มีต่อการเรียนชุดกิจกรรมแนะแนว เรื่อง ภัยบุหรี่ ผลการศึกษาค้นคว้าพบว่า

1.นักเรียนที่เรียนชุดกิจกรรมแนะแนว เรื่อง ภัยบุหรี่ โดยการจัดการเรียนรู้แบบเสาะแสวงหาความรู้ (5Es) ที่สอดแทรกการฝึกคิดวิจารณญาณ กับ นักเรียนที่เรียนชุดกิจกรรมแนะแนว เรื่อง ภัยบุหรี่ โดยการจัดการเรียนรู้แบบ 4 MAT มีความสามารถด้านการคิดแก้ปัญหาแตกต่างกันอย่าง ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ

2. นักเรียนที่เรียนชุดกิจกรรมแนะแนว เรื่อง ภัยบุหรี่ โดยการจัดการเรียนรู้แบบเสาะแสวงหาความรู้ (5Es) ที่สอดแทรกการฝึกคิดวิจารณญาณ กับนักเรียนที่เรียนชุดกิจกรรมแนะแนว เรื่อง ภัยบุหรี่ โดยการจัดการเรียนรู้แบบ 4 MAT มีสัมฤทธิผลทางการเรียนแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ

3. นักเรียนที่เรียนชุดกิจกรรมแนะแนว เรื่อง ภัยบุหรี่ โดยการจัดการเรียนรู้แบบเสาะแสวงหาความรู้ (5Es)ที่สอดแทรกการฝึกคิดวิจารณญาณ กับ นักเรียนที่เรียนชุดกิจกรรมแนะแนว เรื่อง ภัยบุหรี่ โดยการจัดการเรียนรู้แบบ 4 MAT มีเจตคติต่อบุหรี่แตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ

4. นักเรียนที่เรียนชุดกิจกรรมแนะแนว เรื่อง ภัยบุหรี่ โดยการจัดการเรียนรู้แบบเสาะแสวงหาความรู้ (5Es) ที่สอดแทรกการฝึกคิดวิจารณญาณ กับ นักเรียนที่เรียนชุดกิจกรรมแนะแนว เรื่อง ภัยบุหรี่ โดยการจัดการเรียนรู้แบบ 4 MAT มีความคิดเห็นต่อการเรียนชุดกิจกรรมแนะแนว เรื่อง ภัยบุหรี่ ในด้านประโยชน์ที่นำไปใช้ บรรยากาศการเรียนรู้ และ กิจกรรมการเรียนรู้ ในระดับมาก และแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ

5. ประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมแนะแนว เรื่อง ภัยบุหรี่ โดยการจัดการเรียนรู้แบบเสาะแสวงหาความรู้ (5Es) ที่สอดแทรกการฝึกคิดวิจารณญาณ มีประสิทธิภาพอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้

6. ประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมแนะแนว เรื่อง ภัยบุหรี่โดยการจัดการเรียนรู้แบบ 4 MAT มีประสิทธิภาพอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้